คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7203/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 ส.ค. 2555 17:38:14

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยรูปสุนัข และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมก็เป็นรูปสุนัข เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบก็เห็นได้ว่าเป็นรูปสุนัขยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน รูปร่างลักษณะของสุนัขเป็นสุนัขพันธ์เดียวกันและคล้ายกันมากจนอาจเรียกได้ว่าเกือบเหมือนกัน ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่าง แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วย ก็เห็นได้ชัดว่ารูปสุนัขเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบ ทั้งรูปสุนัขก็ชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์บูลด็อก สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" เมื่อนำมาใช้กับสินค้าชนิดเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าจากแหล่งเดียวกัน เมื่อได้ความว่าจำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นผู้เชี่ยวชาญประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผงขัดหรือผงทรายแบบยืดหยุ่น โดยใช้รูปสุนัขที่ผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยร่วมได้คิดประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าของจำเลยร่วมมาตลอด และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2529 ในปี 2532 จำเลยร่วมได้นำสินค้าของจำเลยร่วมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านบริษัทในประเทศไทยเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยในขณะนั้นมีโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่โจทก์จะนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในปี 2535 แสดงว่าจำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขบูลด็อกในประเทศไทยมาก่อนโจทก์ ทั้งการที่โจทก์เคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยร่วม โจทก์ย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมมาก่อนที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เชื่อว่าโจทก์จงใจนำเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมมาขอจดทะเบียน เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต แม้โจทก์จะเคยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ขาดต่ออายุก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยร่วม จึงไม่มีเหตุสมควรที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอได้ กรณีไม่ถือว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะขัดต่อรัฐประศาสโนบาย อันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ เพราะการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดขัดต่อรัฐประศาสโนบายตามบทบัญญัติมาตรานี้ต้องพิจารณาจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ในตัวเครื่องหมายซึ่งเป็นภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุนั้นเอง ที่ทำให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นได้อย่างชัดเจนว่าขัดต่อบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวในอนุมาตราหนึ่งมาตราใดหรือไม่ มิใช่เป็นกรณีของการนำเครื่องหมายการค้ามาขอจดทะบียนโดยไม่ชอบหรือโดยไม่สุจริตเพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจเห็นจากลักษณะของตัวเครื่องหมายที่นำมาขอจดทะเบียนได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android