คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า 80,000,000 บาท มีมูลเหตุมาจากปัญหาการกำหนดจำนวนทรัพย์มรดกที่โจทก์รับจะฟ้องให้จำเลยทั้งสาม โดยโจทก์ต้องการกำหนดค่าตอบแทนในการว่าความเพิ่มเติม ซึ่งมีเงื่อนไขที่โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 2 ข้อ กล่าวคือ จำเลยทั้งสามชนะคดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์รับว่าความให้และเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวย่อมเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี กรณีเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความตามปกติ แม้จะเป็นบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทั้งสามทำให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความแล้วอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ตาม ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์ แม้บันทึกที่ทำขึ้นภายหลังจะใช้คำว่า คำมั่นจะให้รางวัล กรณีก็ไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 362 บันทึกคำมั่นจะให้รางวัลดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
บันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาทหรือไม่ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า 80,000,000 บาท โจทก์จึงจะไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)