คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12124/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 9 ต.ค. 2555 10:35:26

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า โจทก์กับจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกันทั้งในคดีของศาลแพ่งและศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และอยู่ในชั้นบังคับคดี คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้ออ้างของโจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยทั้งสองคดีได้ ประกอบกับตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร การฟ้องคดีของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้หาใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ กรณีจึงไม่ได้เกิดข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โดยเห็นว่าการที่จำเลยนำคดีมาฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โดยเห็นว่าการที่จำเลยนำคดีมาฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ เป็นการใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายกำหนดให้กระทำได้โดยชอบ จึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ และหากโจทก์เห็นว่ามูลหนี้ที่จำเลยนำมาฟ้องมีข้อบกพร่องประการใดหรือไม่มีมูลหนี้อยู่จริง หรือโจทก์มีข้ออ้างข้อเถียงประการใดที่จะทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อจำเลยแล้ว โจทก์ก็สามารถยกขึ้นต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องมาฟ้องเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ หรือโจทก์มีความจำเป็นประการใดที่จำต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์ฎีกาโดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

สมยศ เข็มทอง
สิริรัตน์ จันทรา
ธนฤกษ์ นิติเศรณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android