คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13536/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 พ.ค. 2555 13:06:54

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (8), 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบจำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121, 130 และ 131 ซึ่งลักษณะความผิดที่กล่าวหาดังกล่าวบัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ
การดำเนินคดีส่วนแพ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการธุรกรรม โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและเป็นประธานกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายในขณะนั้นไว้เป็นขั้นตอนตั้งแต่มาตรการยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินไปจนถึงการให้อำนาจตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรโดยค้าน้ำมันเถื่อนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (7) อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับการ กองตำรวจน้ำมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนย่อมมีอำนาจสืบสวนและรายงานข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นเลขาธิการและเป็นประธานกรรมการธุรกรรม เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่ามีพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดของโจทก์เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 1 โดยมติที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมย่อมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินของโจทก์ไว้เป็นการชั่วคราวได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 36
เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ทำการสืบสวน กล่าวโทษและรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมของโจทก์มีพยานหลักฐานอ้างจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแสดงลำดับการดำเนินการมาสนับสนุนได้ชัดเจนถึงเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและโจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งทางไต่สวนของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่อาจชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้หรือควรรู้ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นความเท็จหรือโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือเป็นการแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นหรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือโดยทุจริตดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 157, 172, 173 และ 174
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 125
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 127
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85
  • พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 36
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ผู้พิพากษา

ประพันธ์ ทรัพย์แสง
สุรศักดิ์ สุวรรณประกร
ชำนาญ รวิวรรณพงษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android