คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7740/2553

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 09:12:10

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องและศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 3 ถอนคำฟ้องแล้ว การถอนคำฟ้องดังกล่าวย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ไม่อยู่ในฐานะคู่ความและมิได้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์แต่ละคนไม่ติดใจเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีก โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง ซึ่งโจทก์แต่ละคนย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในใบรับเงินจึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าวดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นว่า ขณะโจทก์แต่ละคนลงชื่อในบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ โจทก์แต่ละคนไม่มีอิสระในการตัดสินใจและยังอยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
บันทึกการรับเงินที่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ทำกับจำเลยเกิดจากการที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งร่วมถึงโจทก์บางคนและเกิดจากการที่โจทก์บางคนลาออกจารการเป็นลูกจ้างของจำเลยจำเลยจึงตกลงกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เพื่อระงับสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน การเลิกจ้าง และการลาออก โดยในขณะที่ทำบันทึกโจทก์ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในบันทึกรับเงินย่อมผูกพันตามข้อความในหนังสือนั้นดังนั้น คำว่า ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีกตามบันทึกการรับเงินค่าชดเชย ย่อมหมายความรวมถึงค่าครองชีพด้วย จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพจำนวน 700 บาท ไปรวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54

ผู้พิพากษา

วิรุฬห์ แสงเทียน
ดิเรก อิงคนินันท์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android