คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ค. 2555 11:51:13

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง การที่จำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริงเบิกเงินไปจากโจทก์ร่วมมิใช่เอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่าย การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสารจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้ที่พนักงานอัยการฟ้องและขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานพนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่กรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยถือโอกาสที่เป็นพนักงานกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยมีเจตนาฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปคดีนี้และคดีอื่นจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วจึงไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ผู้พิพากษา

พิศาล อัยยะวรากูล
ศิริชัย จิระบุญศรี
สมศักดิ์ อเนกพุฒิ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android