คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 พ.ค. 2555 14:36:53

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรมปลอมหรือไม่โดยมิได้กำหนดประเด็นว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ปัญหาเรื่องแบบของพินัยกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์ก็บรรยายฟ้องมาด้วยว่า พยานในพินัยกรรมไม่รู้เห็นขณะทำพินัยกรรมอันเป็นการยกเรื่องแบบพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656

ผู้พิพากษา

สมชาย พันธุมะโอภาส
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
อาวุธ ปั้นปรีชา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android