คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15918/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 เม.ย. 2555 14:40:17

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีและระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณีเฉพาะส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ดังนั้น ช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสามมีสิทธิหยุดงาน ส่วนวันที่ 9 เมษายน 2550 โจทก์ทั้งสามมาทำงาน แต่ก่อนบันทึกบัตรเข้าทำงาน ผู้จัดการโรงงานถามโจทก์ทั้งสามว่าจะรับข้อเสนอเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของจำเลยหรือไม่ ถ้ายอมรับข้อเสนอต้องไปลงชื่อเข้าทำงานในแบบฟอร์มที่หัวหน้า มิฉะนั้นให้ออกไปนอกโรงงาน โจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับข้อเสนอจึงออกไปอยู่นอกโรงงาน การที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานในวันนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสามดังนั้น ช่วงระหว่างวันที่ 9 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่ สำหรับระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 ซึ่งโจทก์ทั้งสามหยุดงานด้วยนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเปิดทำงานตามปกติสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2550 แต่โจทก์ทั้งสามไม่เข้าทำงานกลับไปร่วมชุมนุมกับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่หน้าโรงงาน โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วยเลย ย่อมถือได้ว่า โจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่สหภาพแรงงานฯ ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามในบัญชีรายชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานในวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ให้จำเลยรับลูกจ้างที่ปิดงานกลับเข้าทำงาน ซึ่งหมายถึงเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เท่านั้น อันเป็นคู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้กับจำเลย ย่อมไม่ทำให้โจทก์ทั้งสามที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้สิทธิตามคำสั่งดังกล่าวไปด้วย และไม่มีผลลบล้างให้โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด
เมื่อโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 และถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

ผู้พิพากษา

อนันต์ ชุมวิสูตร
ดิเรก อิงคนินันท์
นิพนธ์ ใจสำราญ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android