คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 15 พ.ค. 2555 09:43:27

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ข้อ 2 (2) กำหนดว่า เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้า แหล่งกำเนิดของสินค้า หรือความเป็นเจ้าของสินค้า เป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ซึ่งประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (13) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทบัญญัติที่ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ ดังนั้น การตีความบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับ "แหล่งกำเนิดของสินค้า" นั้น หมายถึง เครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นประเทศ เมือง หรือสถานที่อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือที่มาของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยตรงเท่านั้น ไม่อาจตีความโดยขยายความให้หมายความรวมถึงเครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นคนสัญชาติของประเทศหรือบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ด้วยได้ เพราะหากตีความโดยขยายความเช่นนั้นจะมีผลเท่ากับเป็นการไม่ให้นำคำที่สื่อความหมายถึงคนสัญชาติของประเทศหรือบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นมาขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยคำว่า "Von" เป็นคำในภาษาเยอรมันที่แปลว่า "จาก ของ มาจาก" ส่วนคำว่า "Dutch" เป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า "ชาวเนเธอร์แลนด์" เมื่อนำคำทั้งสองคำมารวมเข้าด้วยกันเป็น "Von Dutch" ย่อมแปลความหมายได้ว่า "มาจากชาวเนเธอร์แลนด์" มีความหมายที่สื่อถึงคนชาติเนเธอร์แลนด์โดยตรง หาได้สื่อความหมายถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ อันเป็นชื่อเรียกสถานที่ซึ่งอยู่ในความหมายของ "แหล่งกำเนิดของสินค้า" ตามข้อ 2 (2) ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวไม่ เครื่องหมายการค้า คำว่า "Von Dutch" ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ จึงไม่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า ทั้งยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเพราะอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าด้วย และเมื่อนำไปใช้กับสินค้าที่ขอจดทะเบียนสามารถสื่อความหมายได้เพียงว่า สินค้าดังกล่าวมาจากหรือเป็นของคนชาติของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยรวมเท่านั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้เป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง อันจะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้านั้นได้
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 กระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวมีคำวินิจฉัยโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวและพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 นั้น ในปัญหานี้ปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการออกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) มิได้ตั้งข้อหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ว่ากระทำการโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อในการออกคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการส่วนตัว จึงไม่ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2534 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศกระทรวงพาณิชย์ (ฉบับที่ 5)
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android