คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 10:51:48

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่า เงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสองเงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง
ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดไว้ว่า "กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน หรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัด ตัดตอนทางเศรษฐกิจ..." เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ กับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 12 (9) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

ผู้พิพากษา

วิรัช ชินวินิจกุล
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android