คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 พ.ค. 2555 14:31:24

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในอายุความและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้ว ย่อมสันนิษฐานได้ว่ามีการร้องทุกข์และมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อชั้นพิจารณาจำเลยไม่ได้คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่า ไม่มีข้อคัดค้าน
ตามหนังสือขอแจ้งความเพิ่มเติม กรณีการปลอมแปลงลายมือชื่อของโจทก์ร่วมที่มีต่อพนักงานสอบสวน ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญการกระทำความผิดของจำเลยไว้ โดยสรุปใจความว่า เมื่อวันเกิดเหตุจำเลยได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของ ย. แล้วเบิกถอนเงินฝากจำนวน 14,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ย. ไป ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยตามกฎหมาย อันมีความแจ้งชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าว โดยวิธีการปลอมแปลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมจากบัญชีเงินฝากของ ย. อันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้วด้วย โจทก์ร่วมไม่จำต้องระบุอ้างฐานความผิดมาด้วยแต่อย่างใด รูปคดีจะเป็นความผิดฐานใดย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งแล้วแต่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจที่จะวินิจฉัย
แม้การปลอมใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ และใช้เอกสารดังกล่าวถอนเงินไปจากโจทก์ร่วม แล้วยักยอกเงินนั้นเป็นของตนจะเป็นการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างกัน ต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของโจทก์ร่วมที่จำเลยมุ่งประสงค์จะยักยอกเป็นของตนเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ผู้พิพากษา

สมชาย พงษธา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์
สุริยง ลิ้มสถิรานันท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android