คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ก.ย. 2556 17:13:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 14
  • พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล
ดิเรก อิงคนินันท์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android