คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5353/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 10:39:08

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยตามคำฟ้องและคำให้การในประเด็นข้อแรกว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อสอง จำเลยทั้งสองผิดสัญญาและจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ และข้อสาม โจทก์จะต้องคืนเงินประกันแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่และคู่ความยังแถลงรับกันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายลูกไก่และรับซื้อคืนไก่กระทงกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาในฐานะสามีผู้ให้ความยินยอม ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่มาขายคืนให้แก่โจทก์เนื่องจากเกิดโรคระบาดไข้หวัดนกและทางราชการได้สั่งทำลายฆ่าไก่ที่จำเลยที่ 1 เลี้ยงไว้ทั้งหมด 40,137 ตัว โดยทางราชการจ่ายค่าชดเชยให้ตัวละ 45 บาท รวมเป็นเงิน 1,806,165 บาท เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่จะทำได้ จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องตามที่ให้การต่อสู้ไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สละประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไปแล้วจำเลยทั้งสองจะมายกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้อีกในชั้นฎีกาไม่ได้ อีกทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสองอ้างในชั้นฎีกาขึ้นใหม่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
สัญญาซื้อขายลูกไก่และรับซื้อคืนไก่กระทงมีสาระสำคัญว่า โจทก์ตกลงขายลูกไก่และขายอาหารไก่ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกชำระค่าลูกไก่และค่าอาหารไก่ให้โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็ค โจทก์ให้สินเชื่อจำเลยที่ 1 สามารถสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า 60 วัน แต่หากจำเลยที่ 1 จ่ายเป็นเงินสดหรือดร๊าฟหรือแคชเชียร์เช็คโจทก์ก็จะลดราคาลูกไก่ให้ตัวละ 25 สตางค์ ของราคาลูกไก่แต่ละชนิด หรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 จะนำลูกไก่และอาหารไก่ที่ซื้อไปจากโจทก์ไปเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่โจทก์กำหนดแล้วนำมาขายคืนให้แก่โจทก์ตามราคาที่โจทก์กำหนด แล้วหักชำระค่าลูกไก่และอาหารไก่ภายหลังก็ได้ ล้วนเป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 สามารถเลือกชำระค่าลูกไก่อาหารไก่ที่ทำสัญญาซื้อไปจากโจทก์ได้ เห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวมีสัญญาสองส่วนรวมอยู่ด้วยกัน คือสัญญาซื้อขายลูกไก่และอาหารไก่ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะรับซื้อไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่โจทก์กำหนดแล้วนำมาขายคืนโจทก์ในราคาที่โจทก์กำหนด โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 หักชำระค่าลูกไก่และอาหารไก่จากราคาไก่ที่โจทก์รับซื้อคืนได้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นสัญญาต่างตอนแทนที่แยกจากกันไม่ได้ การชำระหนี้ตามสัญญาจึงสามารถแยกออกจากกันได้
ดังนั้น การที่ไก่ของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อจากโจทก์ไปเลี้ยงถูกทางราชการสั่งให้ฆ่าทำลายไปทั้งหมด เนื่องจากเกิดโรคระบาดไข้หวัดนกทำให้ไม่สามารถนำไก่ไปขายคืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ เป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่ที่เลี้ยงโตแล้วไปขายคืนโจทก์นั้น จึงเป็นการชำระหนี้ที่พ้นวิสัยเฉพาะในส่วนสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะรับซื้อไก่คืนโดยยอมให้จำเลยที่ 1 หักชำระหนี้ค่าลูกไก่และค่าอาหารไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น หากทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายลูกไก่และอาหารไก่ที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าชดเชยจากโจทก์ตกเป็นพ้นวิสัยไปด้วยไม่สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นสามีของจำเลยที่ 1 รู้เห็นและให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อลูกไก่และอาหารไก่จากโจทก์ไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ถือเป็นหนี้ร่วมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่สามีภริยาทำด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (3) แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงนามในสัญญาในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิหักเงินค้ำประกันสัญญา เพื่อชำระหนี้ได้ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219

ผู้พิพากษา

ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล
ไพโรจน์ วายุภาพ
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android