คำพิพากษาย่อสั้น
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรกประการหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลังประการที่สอง ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้วประการที่สาม จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้เลยแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน และคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้นเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ย. หรือไม่ เพียงใดฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่นั้น ฟ้องโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540
ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง