คำพิพากษาย่อสั้น
ขณะที่โจทก์เขียนหนังสือพิพาททั้งสองเล่มนั้น โจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรมของหน่วยงานราชการ ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และหน่วยงานราชการที่โจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ อีกทั้งโจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวนอกเวลาราชการ จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง
ในการเขียนหนังสือของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียน และได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือพิพาททั้งสองเล่มนั้น หาใช่หน่วยราชการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 14 ไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 6 วรรคสอง บุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิดทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นกล่าวคือหากนำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ของบุคคลอื่นไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน ก็จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของตนเองมิใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15(1) หากกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27(1)แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าหนังสือของจำเลยมีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของโจทก์ทั้งสองเล่มในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า โดยข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อยและบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำซ้ำ และดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยเป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และได้เผยแพร่งานดังกล่าวทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัด แม้ตั้งราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับต้นทุน ไม่ได้หากำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไร โดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
การที่หน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัด จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบภายในของหน่วยงานดังกล่าวตามขั้นตอน จึงย่อมจะเป็นเหตุให้ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือที่เขียนขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ และต่อมาได้หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเห็นว่าหนังสือของจำเลยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์และจำเลยจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมา และจำเลยจะทำละเมิดลิขสิทธิ์ในหนังสือสองเล่มของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่มีเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่หน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัดก็ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาข้อยุติอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งได้จัดจำหน่ายหนังสือของจำเลยโดยเปิดเผย จึงฟังไม่ได้ว่าหน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือที่จำเลยเขียนขึ้นโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้าอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 31(1) และ (2)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีที่อ้างว่าเป็นการวิจัยและใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนโดยไม่ได้แสวงหากำไร โดยมีการอ้างอิงที่มาของข้อความไว้แล้วนั้นประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32วรรคสอง และมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรเมื่อปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปโดยได้รับค่าตอบแทนงานเขียนดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ส่วนข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33นั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์ประมาณ 30 หน้าจากทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร ส่วนการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น หนังสือของจำเลยดังกล่าวเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายกซึ่งจำเลยสามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อนำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลย การที่จำเลยเพียงแต่อ้างอิงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงท้ายเล่ม ผู้อ่านย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยคัดลอกมา จึงยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 33 ประการแรก ทั้งภายหลังเมื่อมีการฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยก็มิได้ดำเนินการให้ระงับการจำหน่ายหนังสือที่จำเลยทำขึ้น จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ และกระทบถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ด้วย
จำเลยให้การว่าการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว จำเลยมิได้แสวงหากำไรทางการค้าแต่กลับอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการของหน่วยราชการที่จำเลยสังกัด ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง