คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2023/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 20 ก.พ. 2555 14:57:29

คำพิพากษาย่อสั้น

 
นอกจากคดีนี้แล้วปรากฏว่าศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า การออกโฉนดในบริเวณรอบๆ องค์พระพุทธบาทไม่ชอบเป็นการออกทับที่ธรณีสงฆ์ของผู้ร้องสอด เจ้าหน้าที่ของรัฐหาได้คำนึงถึงเขตพุทธาวาส สังฆาวาส อันเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาพงศาวดารพระพุทธบาทแล้ว ทำให้เห็นศรัทธาของพระเจ้าทรงธรรมที่ทรงมีต่อองค์พระพุทธบาทอย่างแรงกล้า ทรงดั้นด้นเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางน้ำและทางบก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีสภาพเป็นป่า การเสด็จพระราชดำเนินกระทำด้วยความยากลำบาก พระองค์มิได้ทรงย่อท้อแต่อย่างใด ดังนั้นที่พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการอุทิศถวายที่ดินที่มีสภาพเป็นป่าในขณะนั้นออกไปเป็นบริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์ (400 เส้น) นั้น จึงสมเหตุสมผล ส่วนที่ต่อมาความเจริญเข้ามาสู่ที่ดินดังกล่าว ประกอบกับผู้ร้องสอดไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นเหตุให้มีการรุกล้ำทั้งจากเอกชนและหน่วยราชการ รวมทั้งมีการออกโฉนดในที่ดินด้วย และเมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ดินของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าอยู่ห่างจากวัดผู้ร้องสอดเพียง 20 เส้น จึงฟังได้ว่าเป็นที่ดินของผู้ร้องสอด แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในทำนองว่ามี พ.ร.ฎ. ในภายหลังเปลี่ยนสถานะที่ดินของผู้ร้องสอดไปแล้วเป็นเหตุให้ราษฎรสามารถมีกรรมสิทธิ์ได้นั้นก็ตาม แต่พระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น แม้จะออก พ.ร.ฎ. จริง ก็ไม่สามารถลบล้างพระบรมราชโองการได้ อีกทั้งที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างจากวัดผู้ร้องสอดไม่มากเชื่อว่าผู้ร้องสอดสามารถดูแลได้ ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสี่เช่าอยู่อาศัยเพียงแต่ขณะที่มีการออกโฉนดทางเจ้าพนักงานมิได้แจ้งให้ผู้ร้องสอดทราบ จึงทำให้ผู้ร้องสอดไม่มีโอกาสคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว เมื่อการออกโฉนดดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้ร้องสอดไม่ร้องขอให้เพิกถอน แต่เมื่อฟังได้ว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องสอด ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 213

ผู้พิพากษา

ศิริชัย วัฒนโยธิน
ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล
กีรติ กาญจนรินทร์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android