คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2546

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

แม้สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. จะมีข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่ผู้อื่น แต่ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นไว้โดยหากได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การท. ก็สามารถโอนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาได้ แสดงว่ามิใช่การห้ามโอนโดยเด็ดขาดและการผิดสัญญาในข้อกำหนดห้ามโอนก็เป็นเพียงการให้สิทธิองค์การ ท. ที่จะบอกเลิกสัญญาได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าทางองค์การ ท. ถือว่าบริษัท ช. กระทำผิดสัญญาและมีการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาประการใด สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยจึงบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยฎีกาว่าทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล เพราะเข้าใจว่าโจทก์ได้รับสิทธิมาจากบริษัท ช. นิติกรรมการว่าจ้างจึงเป็นโมฆะนั้น ฎีกาของจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา
สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นความรับผิดระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. ซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ความรับผิดระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของ เมื่อสัญญาจ้างทำของมิได้ให้ถือเอาสัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างทำของการนับอายุความจึงต้องแยกจากกัน เมื่อสัญญาจ้างทำของกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าการชำระเงินให้ชำระภายใน30 วัน นับจากวันที่ที่ระบุใบแจ้งหนี้ จึงต้องนับอายุความนับแต่นั้น เพราะเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ส่วนก่อนหน้านั้นยังไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 หาใช่เริ่มนับแต่วันทำสัญญาหรือถือเอาตามสัญญาเดิม
จำเลยว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือประกอบกิจการเพื่อรับจ้างทำของให้ ทำการโฆษณาสินค้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ สิทธิเรียกร้องจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) เมื่อตามใบแจ้งหนี้ระบุวันที่ครบกำหนดชำระไว้เป็นวันที่ 30 กรกฎาคม2539 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายในกำหนด2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

เกรียงชัย จึงจตุรพิธ
วิชัย วิวิตเสวี
สำรวจ อุดมทวี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android