คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3383/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 26 เม.ย. 2555 10:56:54

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดของจำเลยที่ 5 กระทรวงยุติธรรม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองจ่าศาลมีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 4 กรมบังคับคดีเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของจำเลยที่ 5 มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมเอกสารเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทของศาล โดยไม่มีการยึดและขายทอดตลาดกันจริง แล้วร่วมกันปลอมหนังสือและปลอมลายมือชื่อผู้พิพากษาแจ้งไปยังสำนักงานขนส่งให้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ยึดรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ เนื่องจากรถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มเติมคำว่า "และผู้มีชื่ออื่น" ต่อท้ายจำเลยที่ 3 ทุกแห่งก็ตาม ก็ยังไม่อาจจะแปลได้ว่าผู้มีชื่ออื่นนั้นหมายถึง ภ. ที่มีตำแหน่งเป็นรองจ่าศาลประจำศาลในขณะเกิดเหตุอีกคนหนึ่งด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องและจำเลยที่ 5 ไม่ได้ให้การถึง ภ. แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องร่วมกับ ภ. รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึง ภ. ย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิดซึ่งทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และข้อเท็จจริงดังกล่าวยุติไปแล้วโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา ย่อมไม่มีทางที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาในประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่โจทก์ฎีกาข้างต้นให้เป็นคุณแก่โจทก์ได้
รถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรอันเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2499 เจ้าพนักงานตำรวจจึงย่อมมีอำนาจหน้าที่ต้องไปดำเนินการยึดรถยนต์พิพาทมาไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2499 ไม่ว่ารถยนต์ของกลางนั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมที่ไปยึดรถยนต์ของกลางจากโจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 กรมตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ แม้โจทก์จะรับซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์พิพาทต้องถูกยึดไปดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2499 โจทก์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าของที่แท้จริงติดตามเอาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. 1332
ตามเอกสารเกี่ยวกับการยึดและขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นขอจดทะเบียนมีราคาขายทอดตลาดเพียง 200,000 บาท โดยแนบสำเนาภาพถ่ายรถยนต์ไปด้วยแต่รถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปให้ตรวจสภาพรถและขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์ที่มีสภาพค่อนข้างใหม่และมีราคาสูง จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปขายให้โจทก์ได้ราคาถึง 1,750,000 บาท แสดงว่ามีสภาพแตกต่างจากที่ระบุไว้ดังกล่าวมาก หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 ตรวจสอบเอกสารและตรวจสภาพรถยนต์พิพาทให้ถี่ถ้วนรอบคอบก็จะทราบถึงความแตกต่างของสภาพรถที่นำมาตรวจเพื่อขอจดทะเบียนกับสภาพรถที่ปรากฏในเอกสารได้โดยไม่ยาก และคงไม่รับจดทะเบียน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทที่ซื้อไว้โดยสุจริตจำเลยที่ 6 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2499
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ผู้พิพากษา

พิสิฐ ฐิติภัค
พีรพล พิชยวัฒน์
ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android