คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5338/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 20 ธ.ค. 2554 11:18:03

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น และวรรคสาม (1) กำหนดให้ข้อตกลงยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อจำกัดความผิดของจำเลยทั้งสองตามใบรับขนของทางอากาศเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าข้อจำกัดความรับผิดนั้นเป็นผลให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า สัญญารับขนของทางอากาศระหว่างผู้ส่งกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน โดยหนี้ที่ผูกพันฝ่ายหนึ่งเป็นมูลฐานของการชำระหนี้ของอีกฝ่ายหนึ่ง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีหน้าที่ที่จะต้องขนส่งสินค้าไปส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายอันเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ส่งก็มีหน้าที่ที่ต้องชำระค่าระวางขนส่งตามอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งจากเงื่อนไขการขนส่งที่กล่าวมาเห็นได้ชัดเจนว่า อัตราค่าระวางที่ผู้ส่งต้องรับภาระจะสัมพันธ์โดยตรงกับมูลค่าสินค้าที่สำแดงเพื่อการขนส่งเช่นเดียวกับจำนวนความรับผิดกรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายโดยเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามกันหากสำแดงราคาสินค้าไว้สูง ผู้ส่งก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้นแต่หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายก็จะได้รับการชดใช้ตามมูลค่าที่สำแดงไว้ แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดเท่านั้น ดังนั้น มูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งที่ระบุจึงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาค่าระวางขนส่งและจำนวนความรับผิด การที่ผู้ขนส่งคิดค่าระวางเพิ่มขึ้นก็เนื่องมาจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มภาระในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หนี้ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระตอบแทนกันในส่วนนี้ จึงถือเป็นหนี้ที่มีความสำคัญขนาดเดียวกัน หากผู้ส่งต้องการค่าสินไหมทดแทนที่มากขึ้นก็ต้องยอมจ่ายค่าระวางขนส่งสูงขึ้นจึงจะเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าที่ผู้ส่งจ้างให้จำเลยทั้งสองขนส่งมีมูลค่าเกินกว่าจำนวนสูงสุดที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้สำแดงได้ไปมาก ประกอบพฤติการณ์ที่ผู้ส่งซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำย่อมทราบดีถึงเงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 แต่สมัครใจเข้าทำสัญญารับขนของทางอากาศกับจำเลยที่ 2 และไม่ได้แจ้งหรือระบุมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ ทั้งยังได้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยจากการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งกับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้าโดยยอมเสียเบี้ยประกันภัยอันเป็นทางเลือกอย่างอื่น แสดงให้เห็นชัดถึงเจตนาที่จะเข้าเอาประโยชน์จากการที่จะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่มและหากสินค้าสูญหายหรือเสียหายผู้ส่งยังได้รับชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์ ทางเลือกและทางได้เสียทุกอย่างของผู้ส่งกับจำเลยทั้งสอง เห็นว่า เงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความผิดตามใบรับขนของทางอากาศดังกล่าวมิได้มีผลให้ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือทำให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้เปรียบผู้เอาประกันภัยเกินสมควรแต่อย่างใด ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
อร่าม เสนามนตรี
สมศักดิ์ เนตรมัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android