คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5337/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 20 ธ.ค. 2554 11:18:04

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 39 บัญญัติ "...ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของสูญหาย... ถ้าเหตุแห่งการสูญหายนั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตนเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของหรือตัวแทนของผู้ส่งของ... จนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40" และมาตรา 40 บัญญัติว่า "ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว... (3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว" ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวสินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับมอบสินค้าจนถึงเวลาส่งมอบไว้กับเจ้าหน้าที่ ณ ท่าเรือปลายทาง หากสินค้าสูญหายในระหว่างเวลาดังกล่าวผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายของสินค้านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งรับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไขการส่งแบบ CFS/CFS ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการว่าจ้างหรือมอบหมายให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลในเงื่อนไขการขนส่ง CY/CFS ซึ่งการขนส่งในเงื่อนไขการขนส่งแบบ CFSปลายทางตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 และ ล.5 เมื่อตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทาง ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนย้ายแพลเล็ตสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ขนส่งนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์นำสินค้าพิพาทเข้าเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หีบห่อของสินค้าพิพาทไม่มีความเสียหายชำรุดฉีกขาด เมื่อสิ่งห่อหุ้มหีบห่อของสินค้าพิพาทฉีกขาดเพิ่งมาพบเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 ตามรายการสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (survey note) เอกสารหมาย จ.8 และสินค้าพิพาทได้สูญหายไปบางส่วน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปหลังจากจำเลยที่ 3 ขนถ่ายออกจากตู้คอนเทนเนอร์ไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วสินค้าพิพาทที่สูญหายจึงไม่อยู่ในระหว่างความดูแลรับผิดชอบของผู้ขนส่ง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39

ผู้พิพากษา

ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช
พลรัตน์ ประทุมทาน
ฐานันท์ วรรณโกวิท

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android