คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ต.ค. 2554 10:22:20

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 39 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้นนอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดและย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้วผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินไปขณะกระทำผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ผู้ร้องให้จำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางไป ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าบริษัท จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าบริษัท จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย นอกจากนี้ผู้ร้องให้การในชั้นสอบสวนว่า ผู้ร้องไม่รู้ว่าจำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดเพราะผู้ร้องไปค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จำเลยใช้รถยนต์กระบะของกลางบรรทุกยางพาราแตกต่างจากที่ผู้ร้องและจำเลยเบิกความว่าจำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางจากผู้ร้องเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักรับฟัง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

ผู้พิพากษา

ประยูร ณ ระนอง
สมศักดิ์ อเนกพุฒิ
พิศาล อัยยะวรากูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android