คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 15,000 บาท แต่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยระบุจำนวนเงินกู้ไว้ 40,000 บาท เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็จะดำเนินการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 40,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา การนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงความไม่บริบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงิน ทั้งนี้เพราะสัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจึงไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยที่ 3 ย่อมนำสืบได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 นำสืบดังกล่าวเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 40,000 บาท จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้นำพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 มาวินิจฉัยเพื่อชั่งน้ำหนักกับพยานหลักฐานของโจทก์ว่าข้อเท็จจริงเชื่อฟังเป็นยุติอย่างไร ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ใช้อำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104
ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้ออื่นโดยขอถือเอาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น ข้อฎีกาดังกล่าวมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย