คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ต.ค. 2554 10:14:50

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เหล็กแหลมที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายนั้นเป็นเครื่องมือใช้ในการเจาะปล่อยลมยาง แม้จะไม่มีคมแต่ก็มีลักษณะแหลมยาวถึง 12 เซนติเมตร ดังนั้น การที่จำเลยใช้กำลังจ้วงแทงไปที่บริเวณช่องท้องของผู้เสียหายซึ่งเป็นจุดอ่อนของร่างกาย แม้จ้วงแทงไปเพียงครั้งเดียว หากขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ถือแฟ้มเอกสารอยู่ที่มือหรือยกแขนขึ้นปิดกั้นได้ทันแล้วเชื่อว่าเหล็กแหลมนั้นจะแทงทะลุเข้าช่องท้องของผู้เสียหาย ทำอันตรายต่อวัยวะสำคัญต่างๆ ภายในช่องท้องของผู้เสียหายได้ ประกอบกับบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับถึงขนาดกระดูกแขนขวาหักย่อมแสดงว่าจำเลยแทงผู้เสียหายโดยแรงที่ช่องท้อง ดังนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำของจำเลยได้ว่าเหล็กแหลมที่จำเลยแทงไปนั้นอาจทะลุเข้าช่องท้องไปถูกอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องที่เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายได้รับบาดเจ็บและผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหาใช่มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายไม่ อีกทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยตระเตรียมเหล็กแหลมของกลางไว้เพื่อหาโอกาสแทงผู้เสียหายด้วยสาเหตุโกรธเคืองที่ผู้เสียหายเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่เจรจาช่วยเหลือฝ่ายจำเลยให้ได้รับเงินโบนัสพิเศษเพิ่มเติมนั้น เมื่อสบโอกาสจำเลยจึงใช้เหล็กแหลมที่ตระเตรียมไว้จ้วงแทงผู้เสียหาย ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289

ผู้พิพากษา

ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล
นิยุต สุภัทรพาหิรผล
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android