คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 17 ส.ค. 2554 10:00:13

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่สัญญากู้ยืมเงินระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ให้โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ครบถ้วน ข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง โจทก์คงคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เท่านั้น การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญา ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 7,084,795.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่าหนี้กู้ยืมและค้ำประกันในส่วนที่เป็นต้นเงินโจทก์ขอมาเพียง 7,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ย 62,136.99 บาท โจทก์มิได้ขอมาด้วย นอกจากนี้เงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนอง 22,658.32 บาท ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเป็นอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นนำดอกเบี้ย 62,136.99 บาท กับเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 22,658.32 บาท มารวมกับต้นเงิน 7,000,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และมีผลให้จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยซ้ำซ้อน ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379

ผู้พิพากษา

มานัส เหลืองประเสริฐ
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
อาวุธ ปั้นปรีชา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android