คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ส.ค. 2554 10:10:07

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า "HALOTRION" ส่วนของโจทก์เป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า "HALOTRON" จึงมีอักษรโรมันที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันถึง 8 ตัว และอยู่ในตำแหน่งเดียวกันแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอักษรโรมัน 4 ตัวแรก คือ HALO กับอักษรโรมัน 2 ตัวสุดท้ายคือ ON เพียงแต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมัน I แทรกอยู่ระหว่างอักษรโรมัน R กับ O เท่านั้น ถือว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์มีรูปลักษณะที่คล้ายกันมาก ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยอ่านออกเสียง 4 พยางค์ ว่า ฮา-โล-ทรี-ออน และเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์อ่านออกเสียง 3 พยางค์ ว่า ฮา-โล-ทรอน แม้จะมีจำนวนพยางค์ที่ออกเสียงต่างกัน แต่เสียงเรียกขาน 2 พยางค์แรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญนั้นเหมือนกัน ถือว่าเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์ก็คล้ายกันมากเช่นกันเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับจำพวกสินค้า และรายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละฝ่ายจะเห็นว่า เป็นสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้า สารหรือน้ำยาที่ใช้ในการดับเพลิงเหมือนกัน ดังนี้ ถือได้แล้วว่า เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRON มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า HALONITE และ HALOTRION ทั้งจำเลยประกอบธุรกิจชนิดเดียวกับโจทก์ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนแล้ว และบริษัทในเครือของจำเลยเคยสั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยเคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ทำให้จำเลยคิดใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRION อนึ่ง การที่สารฮาลอน HALON เป็นคำสามัญที่บุคคลทั่วไปอาจใช้ได้ ก็ไม่ทำให้จำเลยอาจนำไปใช้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ รวมทั้งข้ออ้างที่ว่าการใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRION เป็นเพราะมีการใช้สารประกอบ 3 ชนิด จำเลยก็ไม่สมควรที่จะทำให้เครื่องหมายการค้าของตนคล้ายกับของโจทก์เช่นนี้ จึงรับฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า HALOTRON ดีกว่าจำเลย และเมื่อคดีรับฟังมาแล้วว่า เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์ จึงรับฟังต่อไปได้ด้วยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า HALOTRION ดีกว่าจำเลย
คดีนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 16 ซึ่งจำเลยไม่ได้คัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในส่วนนี้ ประกอบกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจถูกคัดค้านในสาเหตุอื่นๆ ได้ โจทก์จึงไม่อาจห้ามจำเลยคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยเองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 54 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
พลรัตน์ ประทุมทาน
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android