คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 26 ก.ค. 2554 18:11:04

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์เป็นบุตรของ ท. เมื่อ ท. ถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกของ ท. ย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 ซึ่งมี ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แม้โฉนดที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินจาก ท. มาเป็นชื่อโจทก์ก็ตามโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้
ที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนโดยมีชื่อ ท. บิดาโจทก์ และ ป. บิดาของจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามโฉนดเลขที่ 18488 ต่อมาในปี 2529 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 17055 มีชื่อ ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วน ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 ในส่วนที่เหลือเมื่อแบ่งแยกที่ดินกันแล้วทำให้ที่ดินแปลงของ ท. ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ป. ยินยอมให้ ท. ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ท. จึงใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2529 และ ท. ถึงแก่กรรม ดังนั้น ท. จึงใช้ทางพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ห้ามปรามหรือขัดขวางทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 และเมื่อ ท. ตายที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 จึกตกเป็นกรรมสิทธิ์โจทก์ โจทก์จึงรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่และโจทก์ก็ได้ใช้ทางพิพาทตลอดมา ดังนั้น ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 18488
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387

ผู้พิพากษา

คำนวน เทียมสอาด
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
ชาลี ทัพภวิมล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android