คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ก.ค. 2554 10:18:21

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีที่ปรากฏอยู่แล้วไปขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายทะเบียนสิทธิบัตรได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรให้แก่จำเลย โดยมีข้อถือสิทธิว่า "1. การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยที่เสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤๅษี กกรังกา และ/หรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย" ข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อ ไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์เสื่อ และกรรมวิธีดังกล่าวไม่มีความใหม่โดยสิ้นเชิง ทั้งไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ แต่จำเลยกลับอาศัยสิทธิที่ได้มาโดยไม่สุจริตดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์และพวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความจริงแล้วโจทก์ใช้เสื่อกกกับคานไม้ไผ่รวกเพื่อระบายอากาศภายในระวางเรือ มิได้ใช้เสื่อกกปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นหรือดูดซับความชื้น โจทก์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คำฟ้องของโจทก์จึงพอเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของจำเลยได้รับการจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อทั้งไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น กับขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 และมาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้ให้นิยามคำว่า "สิทธิบัตร" และ "การประดิษฐ์" ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 แต่ไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง และไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะตามฟ้อง กรณีไม่อาจแปลความพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไปได้เช่นนั้น ดังนั้น สิทธิบัตรของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New use patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง
ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษี หรือกกชนิดอื่น ๆ เป็นวัชพืชที่ใช้ทดแทนกับวัสดุอื่นเพื่อใช้ในการทอเสื่อได้อยู่แล้ว เสื่อที่ทอขึ้นจากวัสดุดังกล่าวมีหรือใช้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตร เพราะฉะนั้นการที่จำเลยใช้ต้นกกช้าง หรือต้นธูปฤๅษีหรือกกชนิดอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในข้อถือสิทธิมาทอเสื่อจึงไม่ทำให้เสื่อดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จำเลยย่อมไม่อาจได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เสื่อ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
พลรัตน์ ประทุมทาน
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android