คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5125/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 24 พ.ค. 2554 14:36:15

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์กล่าวอ้างถึงสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงซึ่งมีรายชื่อเพลงพิพาทแนบท้ายโดยไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว แต่กล่าวอ้างถึงบันทึกข้อตกลง แต่เมื่อฝ่ายจำเลยนำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงมาถามค้าน โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้ง จึงฟังได้ในเบื้องต้นว่า สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงตามที่โจทก์กล่าวอ้างมีข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงที่จำเลยอ้าง ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงอยู่ว่า เป็นข้อตกลงในการโอนลิขสิทธิ์เพลงพิพาท โจทก์ทราบข้อความในเอกสารดีแล้ว จึงตกลงทำสัญญาด้วยการลงชื่อในเอกสารดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในทำนองว่า โจทก์ถูกฉ้อฉลหลอกลวงและเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจึงมีน้ำหนักน้อย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า โจทก์ประพันธ์และร้องเพลงให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ประมาณ 60 เพลง ห้างดังกล่าวเป็นผู้ลงทุนรวมทั้งจัดหานักดนตรี ห้องอัดเสียง และจัดจำหน่ายแผ่นเสียง โจทก์ทำหน้าที่เป็นนักร้องและดูแลให้การผลิตเพลงออกมาถูกต้องตามที่โจทก์ประพันธ์ หลังจากที่วางจำหน่ายและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพลงเป็นที่นิยมแล้ว จะมีบุคคลว่าจ้างโจทก์ไปร้องเพลง ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบถึงการดำเนินธุรกิจของห้างดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่มีการนำเพลงของโจทก์ไปใช้ประโยชน์มาตลอด สำหรับข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้ไปขึ้นทะเบียนรับทราบข้อมูลลิขสิทธิ์เพลง การที่โจทก์ขึ้นทะเบียนดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังเป็นหลักฐานได้ว่า ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทเป็นของโจทก์ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงกลับปรากฏต่อไปว่า หลังจากนั้นได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงขึ้น ซึ่งมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ยอมรับในการโอนลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทดังกล่าว แต่ในประเด็นนี้โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า โจทก์ไม่เคยเห็นและไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.3 ทั้งๆ ที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความเช่นเดียวกับบันทึกข้อตกลงในการโอนลิขสิทธิ์เพลงพิพาท คำเบิกความของโจทก์จึงมีข้อพิรุธน่าสงสัย ทำให้ข้อกล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกฉ้อฉลหลอกลวงให้ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ อนึ่ง ที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในช่องผู้รับอนุญาตเป็นลายมือชื่อของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้เห็นข้อความนั้นเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์เคยมาขออนุญาตเพื่อใช้เพลงพิพาท อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมามีน้ำหนักน้อย และน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ตกลงโอนลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทไปแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงพิพาทอีก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 17

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
ธนพจน์ อารยลักษณ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android