คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ค. 2554 15:31:04

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ของจำเลยที่ 1 เช่นกันซึ่งเป็นอักษรญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นได้ว่า อักษรญี่ปุ่น อ่านว่า "นายาโก้ เปปาร์" และกรอบลวดลายดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 จะมีส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น อักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันซึ่งเป็นคำบรรยายของสินค้า และอักษรโรมัน คำว่า "Na" ขนาดใหญ่จำนวน 7 คำ อยู่ตรงกลางของเครื่องหมายการค้าด้วย ซึ่งแม้จะมีการนำข้อความอื่น ๆ มาประกอบเช่นนี้ก็ยังเห็นได้จากตัวเครื่องหมายการค้า หาใช่ข้อความที่มีลักษณะเป็นการบรรยายของสินค้า หรือแม้แต่ตัวอักษรโรมัน "Na" ก็หาได้เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่มีอักษรโรมัน "Na" ในเครื่องหมายการค้าถึง 8 แห่ง ก็ไม่ทำให้สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแตกต่างไป คดีเป็นอันรับฟังว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 คือ อักษรญี่ปุ่นเหมือนกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้ กับให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งภายหลังจากที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 แล้ว โดยมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายอันไม่พึงรับจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 จึงร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้
สำหรับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 ของจำเลยที่ 1 นั้นมีสาระสำคัญอยู่ที่อักษรญี่ปุ่น อ่านว่า "เอ็นเอ เปปาร์" ซึ่งคำดังกล่าวไม่มีความหมายและจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ส่อแสดงว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เห็นอยู่แล้วว่าเครื่องหมายการค้าทั้ง 2 เครื่องหมายคล้ายกันมาก เพียงแต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนอักษรญี่ปุ่น 3 ตัวแรกให้แตกต่างจากเดิมเท่านั้น โดยตัวอักษรที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีลักษณะใกล้เคียงกันมากเท่ากับว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 มีส่วนสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้แล้ว ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายและไม่พึงรับจดทะเบียนให้เช่นกัน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้รับจดทะเบียน ย่อมไม่สมควรนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป และเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะบ่งเฉพาะ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวต้องผูกพันตามผลแห่งคำพิพากษานั้น และมีผลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานและเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่พิจารณาการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องถือตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว
สำหรับคำขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เป็นการขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปเลย ทั้งที่นายทะเบียนยังจักต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าในประการอื่นต่อไปเสียก่อน ในชั้นนี้ย่อมไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองตามคำขอได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 มาตรา 62
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 มาตรา 8
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
บวร กุลทนันท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android