คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 8 เม.ย. 2554 14:37:13

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์กับอักษรโรมันคำว่า "Global Sources" หากพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว อักษโรมันคำว่า "Global Sources" ย่อมเป็นภาคส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ ในขณะที่รูปโลกประดิษฐ์นั้น แม้จะมีลักษณะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีเจตนาจะใช้เครื่องหมายการค้า/บริการ แต่โดยขนาดตำแหน่งและสภาพที่ใช้ร่วมกับอักษรโรมันคำว่า "Global Sources" แล้ว รูปโลกประดิษฐ์ดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นภาพส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ได้ กล่าวคือหากพิจารณาว่า อักษรโรมันคำว่า "Global Sources" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว ลำพังรูปโลกประดิษฐ์ดังกล่าวยังไม่อาจทำให้เครื่องหมายการค้า/บริการได้รับการจดทะเบียน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ อักษรโรมันคำว่า "Global Sources" มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการ จำนวน 5 คำขอ เพื่อใช้กับสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียน ซึ่งในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า/บริการตามคำขอใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรงหรือไม่นั้น มิจำต้องพิจารณาสินค้าและบริการแต่ละชนิดในรายการสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียน ดังนั้น หากตรวจสอบพบสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/บริการในคำขอใดแล้วก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนสำหรับคำขอนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้รับจดทะเบียนเป็นรายสินค้าหรือบริการตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด สำหรับคำว่า "Global" นั้น แปลว่า "โลก, ทั่วโลก, เกี่ยวกับโลก" ส่วนคำว่า "Sources" นั้นแปลว่า "แหล่ง, ข้อมูล, แหล่งข้อมูล" เมื่อออกเสียงรวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า "แหล่งข้อมูลของโลก" เมื่อใช้คำดังกล่าวกับคำขอเลขที่ 456095 ถึง 456099 ซึ่งต่างมีสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรง เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์ทั้งคำขอจึงไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 12
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6

ผู้พิพากษา

รัตน กองแก้ว
พลรัตน์ ประทุมทาน
เอกชัย ชินณพงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android