คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 4 เม.ย. 2554 13:24:55

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกันนั้นคือ ผู้บริโภคทั้งสี่รายต้องชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดจนชำระเงินงวดสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านและรั้วเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วไปด้วย แม้ตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการพัฒนาที่ดินหรือสิ้นสุดของการก่อสร้างบ้านและรั้วของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสี่ราย แต่ก็ย่อมอนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่านับแต่ทำสัญญาในปี 2538 จนถึงปี 2547 ที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาถึง 9 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วจนแล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมโอนให้ผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งในเวลาเดียวกันผู้บริโภคทั้งสี่รายกลับผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินพอสมควรดังกล่าวข้างต้น อันถือได้ว่าผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ไปบ้างแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาได้ปฏิบัติการชำระหนี้เป็นการตอบแทนแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสี่รายซึ่งเป็นเสมือนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือและใบตอบรับก็เพื่อบอกเลิกสัญญา หาใช่หนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ ดังนั้นจึงไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลา 15 วันว่าเป็นเวลาพอสมควรหรือไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสี่รายตามฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่นๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 369
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387

ผู้พิพากษา

อร่าม แย้มสอาด
วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์
เฉลิมชัย ตันตยานนท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android