คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ต.ค. 2554 15:15:38

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ข้อตกลงซื้อขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ข้อ 3 วรรคแรก มีข้อความว่า "ผู้ขายตกลงเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินของบริษัท ก. มีวงเงินค้ำประกัน 350,000,000 บาท ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534... และภายในวันที่ 3 เมษายน 2534 เช่นกัน ผู้ซื้อจะดำเนินการให้ธนาคารปลดผู้ขาย ส. และ ว. ออกจากเป็นผู้ค้ำประกัน และปลดจำนองทรัพย์สินซึ่งจำนองประกันหนี้สินของบริษัท ก. ทั้งหมด" วรรคสอง มีข้อความว่า "ถ้าหากล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ ผู้ซื้อและบริษัท ก. ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ขายเดือนละ 1,000,000 บาท ทุกๆ เดือนจนกว่าผู้ขายจะหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง" ซึ่งหมายความว่า โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนรายเดือนต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อหุ้นจากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองให้สำเร็จได้อันเป็นการผิดข้อตกลงแล้วเท่านั้น ค่าตอบแทนรายเดือนจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ระบุว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายเวลาที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องดำเนินการเช่นนั้นอีกต่อไปจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก ซึ่งหากเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
หลังจากพ้นกำหนดวันที่ 3 เมษายน 2534 โจทก์ที่ยอมรับเอาค่าตอบแทนของเดือนพฤษภาคม 2534 และต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระสำหรับเดือนต่อไป ถือว่าโจทก์ที่ 1 แสดงต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ สทิธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองย่อมเป็นอันขาดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก
สิทธิของผู้ค้ำประกันที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ย่อมจะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 ส่วนสิทธิของผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตาม มาตรา 724 บัญญัติให้ผู้จำนองที่เข้าชำระหนี้เสียเองแทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนองชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนที่ได้ชำระไป และถ้าว่าต้องบังคับจำนอง ผู้จำนองก็ชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์ทั้งสามเข้าชำระหนี้เสียเองแทนจำเลยที่ 1 หรือมีการบังคับจำนองทรัพย์สินที่จำนองแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้เข้าชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้แทนจำเลยที่ 1 หรือธนาคารได้บังคับจำนองแล้ว สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จำนองจึงยังไม่เกิดขึ้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 724
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693

ผู้พิพากษา

ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์
ชาลี ทัพภวิมล
คำนวน เทียมสอาด

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android