คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 มี.ค. 2554 10:07:23

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างกับบริษัทโจทก์ผู้รับจ้าง แม้ ด. กรรมการของโจทก์คนหนึ่งจะลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ แต่โจทก์ได้รับเอางานจ้างดังกล่าวมาทำอันแสดงว่าโจทก์ยอมรับหนังสือสัญญาว่าจ้างดังกล่าว และเมื่อมีเหตุผิดสัญญาโจทก์ก็ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา จึงถือได้ว่า ด. ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ เนื่องจากสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยจึงมีผลผูกพันโจทก์
สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามฟ้องกับโจทก์ตามฟ้องจริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำการแทนเท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์ได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานในคดี ฉะนั้น แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างกับโจทก์ผู้รับจ้าง ทั้งหลังจากทำสัญญาว่าจ้างแล้วจำเลยที่ 1 ก็ได้รับเอางานที่โจทก์รับจ้างทำทั้งหมด และได้จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาบางส่วนให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์เอง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการเข้าทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 118
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118

ผู้พิพากษา

พิสิฐ ฐิติภัค
พีรพล พิชยวัฒน์
ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android