คำพิพากษาย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีรายละเอียดขั้นตอนว่าคำสั่งลงโทษลูกจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือการสอบสวนข้อเท็จจริงจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด 150 วัน แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน และจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้อง และตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากข้อกล่าวหา ก็เป็นเรื่องพ้นจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนครั้งนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาล
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดี โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ไม่คืนเงิน โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยอ้างว่าป่วย โจทก์มีสิทธิลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงลาป่วยเกินกำหนดหรือระเบียบ 36.5 วัน อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันโจทก์ในการที่โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 และยินยอมค้ำประกันโจทก์ไม่ว่าโจทก์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และต่อมาโจทก์ได้ก่อความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน