คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 27 ม.ค. 2554 19:38:05

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. และค่าจ้างของโจทก์ก็จ่ายจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
และเมื่อโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และค่าตอบแทนอื่น ๆ หรือเสนอเรื่องที่โจทก์ขอเข้าพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาว่า ไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา โดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อประโยชน์ราชการไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องเสนอเรื่องเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ แม้ต่อมาผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 1 ให้งดเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 146 และโจทก์สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146

ผู้พิพากษา

จรัส พวงมณี
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
มานัส เหลืองประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android