คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8451/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 27 ม.ค. 2554 19:38:11

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 20 ของราคาขาย เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าลิขสิทธิ์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่การละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์
แม้จำเลยที่ 1 จะมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูล ศัพทานุกรมและพจนานุกรมของโจทก์เพื่อจำหน่าย แต่โจทก์ก็เบิกความปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 เพิ่มชื่อศัพทานุกรมและพจนานุกรมดังกล่าวลงในใบเสร็จรับเงินเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูลดังกล่าวและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศัพทานุกรมและพจนานุกรมทั้ง 2 ฉบับ ของโจทก์
แม้จะปรากฏว่าการออกเสียงเป็นคุณสมบัติพิเศษของเครื่องปาล์ม (เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา) บางรุ่น และการออกเสียงได้เกิดจากโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ที่ออกเสียงได้ไม่จำกัดเฉพาะพจนานุกรมของโจทก์เท่านั้น แต่เมื่อการออกเสียงดังกล่าวเป็นการออกเสียงตามพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 นำพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์มาดัดแปลงใส่เสียงอ่านเป็น "ทอล์คกิ้ง ดิกชันนารี" โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานพจนุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์
ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 คงระบุเพียงว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์และจำหน่ายบทประพันธ์พจนานุกรมของโจทก์ในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลรูปแบบที่แสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิดัดแปลงได้ การที่จำเลยที่ 1 ดัดแปลงโดยการตัดประโยคตัวอย่างเดิมออกและมีการตั้งชื่อพจนานุกรมใหม่เป็น 5 ชื่อดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
การที่จำเลยที่ 1 จัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวจำหน่ายทางเว็บไซต์โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แม้ว่าตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ จะบัญญัติว่า "ผู้ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ จะมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดังแปลง แต่การได้ลิขสิทธิ์นั้นต้องเข้าเงื่อนไขที่ว่า การดัดแปลงนั้นได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การดัดแปลงฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในการจัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำงานดังกล่าวไปจำหน่ายทางเว็บไซต์ จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 ให้ลูกค้าที่ซื้อเครื่องปาล์มสามารถอัพเกรดทางเว็บไซต์ได้ในราคาพิเศษโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เช่นกัน
โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เปิดตัวโปรแกรมไทยแฮคสำหรับเครื่องปาล์มรุ่นทังสเตนที โดยลูกค้าที่ซื้อเครื่องดังกล่าวสามารถอัพเกรดทางเว็บไซต์ได้ในราคาพิเศษ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องดังกล่าวรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งการอัพเกรดก็กระทำผ่านเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์คือจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำข้อมูลจากพจนานุกรมของโจทก์มาทำซ้ำเป็นแผ่นซีดีขายหรือแจกแถมพร้อมเครื่องปาล์มของจำเลยที่ 2 โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์เช่นเดียวกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 11

ผู้พิพากษา

ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
เกรียงชัย จึงจตุรพิธ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android