คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 26 พ.ค. 2554 13:53:09

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น ไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขาย โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2
การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพระการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ผู้พิพากษา

ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล
กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล
สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android