คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7398/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 9 ส.ค. 2553 15:05:13

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ได้นิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าหมายถึง (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) ที่มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้แปรรูปเป็นบริษัท ป. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัทดังกล่าวจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ย่อมทำให้บริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (1) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ ดังนั้นบริษัทจำเลยจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อีกต่อไป แต่จะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท บ. ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ย่อมสิ้นสภาพเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากนี้แล้วสหภาพแรงงานดังกล่าวมิได้มีการยกเลิกด้วยเหตุนายทะเบียนมีคำสั่งให้ยกเลิกตามมาตรา 66
เมื่อเดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2545 โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8.00 นาฬิกา อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 21 มกราคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง จำเลยออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เอกสารทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อ ว. ผู้จัดการส่วนการพนักงาน หนังสือทั้งสองฉบับนี้ระบุว่าเป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ และยังระบุเรื่องการกระทำผิดของโจทก์ด้วย อีกทั้งมีข้อความเหมือนกันว่า "ดังนั้นเพื่อให้ท่านแก้ไขและปรับปรุงความประพฤติของท่านให้เป็นพนักงานที่ดีและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎข้อบังคับและมาตรฐานการทำงานที่ดี บริษัทฯ จึงลงโทษท่าน โดยการออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติครั้งที่ 1 ขอตักเตือนว่าหากท่านฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของบริษัทโดยการกระทำผิดเช่นนั้นอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป" หลังจากนั้นปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546 โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไปไม่ถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ลงนามโดย ว. เช่นกัน แต่ระบุเรื่องว่าหนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อมีข้อความระบุการกระทำความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อไป มิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือนหลังจากออกหนังสือฉบับนี้ได้ 9 วัน จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน ดังนั้น หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงมิใช่หนังสือเตือนแต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน โดยโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) การกระทำของโจทก์เป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณ จำเลยเป็นนายจ้างสามารถไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลยย่อมมีเหตุผลอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 34
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 24
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 66

ผู้พิพากษา

วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
มานัส เหลืองประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android