คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ส.ค. 2553 10:49:36

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ศาลล้มละลายกลางจะพิพากษาให้บริษัท อ. ล้มละลายแล้วก็ตาม แต่บริษัท อ. ก็สามารถเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นคดีอาญาในฐานความผิดยักยอก รับของโจร และความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 โดยขอให้ลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่โจทก์จะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อีกทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 4, 5 และ 6 ก็มิได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือล้มละลายด้วย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. โจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ได้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวนเอง คดีอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง แล้วให้ศาลชั้นต้นยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทั้งสี่สำนวนขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แม้จำเลยที่ 4 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ต้องถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสิ้นผลไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4

ผู้พิพากษา

ดิเรก อิงคนินันท์
ธนฤกษ์ นิติเศรณี
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android