คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 มิ.ย. 2553 11:47:15

คำพิพากษาย่อสั้น

 
กรณีมีข้อพิจารณาว่าลูกล้อรถเข็นที่ใช้สำหรับทางเลื่อนที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิต และโจทก์ที่ 2 สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานจิตรกรรม งานภาพร่าง หรือแบบจำลองมาเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยตนเอง (Originality) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความวิริยะอุตสาหะอย่างไร เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) ของผู้สร้างสรรค์เช่นใด นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าลูกล้อตามวัตถุพยานจะเห็นว่าลูกล้อดังกล่าวมีลักษณะของวัตถุที่ใช้งานในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้ โดยมีคุณประโยชน์พิเศษคือมีระบบการล็อกล้อพิเศษสำหรับทางเลื่อน ซึ่งรูปลักษณะของลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวเป็นไปตามข้อจำกัดของรูปแบบลูกล้อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รูปลักษณะที่ปรากฏจึงเป็นการสร้างลูกล้อเลื่อนขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แล้วจึงปรับปรุงรูปแบบของลูกล้อเลื่อนให้มีความสวยงามน่าดู เช่น กำหนดส่วนเว้าโค้ง ส่วนมุม และเลือกใช้สีต่าง ๆ โดยความสวยงามน่าดูตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างนั้นไม่อาจที่จะแยกต่างหากไปจากตัวสินค้าที่มุ่งประสงค์ต่อประโยชน์การใช้สอยได้เลย พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า ลูกล้อดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นจากงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือเริ่มต้นจากงานที่มีความงาม (Aesthetic work) เป็นจุดเริ่มต้น แล้วนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
อร่าม เสนามนตรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android