คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 มิ.ย. 2553 10:44:05

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลยที่ 2) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) โดยมี "ฝ่ายจัดการกองทุน" เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น วันที่ 30 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 จัดตั้ง "ฝ่ายจัดการกองทุน" ขึ้นในส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันก็ออกข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ให้เติมอัตรากำลังของ "ฝ่ายจัดการกองทุน" เข้าไปในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ข้อบังคับทั้งสองฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไป ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า "ฝ่ายจัดการกองทุน" ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 ตรี คือเจ้าหน้าที่ "ฝ่ายจัดการกองทุน" ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง การดำเนินงานของจำเลยที่ 2 ที่แยกออกจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ใน "ฝ่ายจัดการกองทุน" ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น บุคคลนอกเหนือจาก "ฝ่ายจัดการกองทุน" ของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้
การที่ ก. ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 สัตตรส ทำสัญญาจ้างแรงงานจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ก็คือการทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างใน "ฝ่ายจัดการกองทุน" ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง
จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องมีผู้มาปฏิบัติหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ในส่วนการบังคับคดีแก่สถาบันการเงิน 56 แห่ง อย่างเร่งด่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพนักงานที่เชี่ยวชาญที่จะดำเนินการได้ จึงได้จ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการมาดำเนินการ อีกทั้งคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรของสายจัดการกองทุน (ฝ่ายจัดการกองทุน) ดังนั้นโจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แม้ในสัญญาจ้างแรงงานระบุว่าโจทก์ไม่มีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลลบล้างบทบัญญัติในมาตรา 29 ตรี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญากับโจทก์ และการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างอยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 6 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ด้วยตามมาตรา 29 นว ที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานมีมติอนุมัติให้จ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2546 ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์โดยมีสาระสำคัญตามที่ที่ประชุมมีมติอยู่ในข้อ 1 (3) ว่าจำเลยที่ 2 จะประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ได้ขยายระยะเวลาจ้างออกเป็นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เกินขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่เพียงตัวแทนไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
ตามสัญญาจ้างแรงงานข้อ 1 (3) ระบุว่า "...นายจ้างจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป..." หมายความว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์จะเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานเพียงประการเดียว หากผลการปฏิบัติงานผ่านเกณฑ์การประเมินจำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน เมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญา แนวคิดเรื่ององค์กรกะทัดรัดเกิดขึ้นก่อนการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์หลังจากมีการทำสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้ดำเนินการกลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดได้ จำเลยที่ 1 จึงยกข้อที่ต้องเป็นองค์กรกะทัดรัดจึงไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงานมาอ้างไม่ได้ จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจ้างโจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ (เป็นเจ้าหน้าที่) ดำเนินการแก้ไขปัญหาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงอ้างมาตรา 20 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) มาปฏิเสธการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุไม่มีความจำเป็นแก่ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงาน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส
  • พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 นว
  • พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 ตรี
  • พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820

ผู้พิพากษา

สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android