คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 ก.พ. 2553 15:01:37

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ปัญหาว่าข้อตกลงในสัญญาเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องยึดหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม ซึ่งได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น
ก่อนที่โจทก์จะรับเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลย โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากบริษัทในต่างประเทศซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีราคาสูงเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลย อีกทั้งจำเลยได้ส่งร่างสัญญาตัวแทนให้แก่โจทก์ตรวจสอบก่อนที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ตามสัญญาข้อ 11.2 กำหนดให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นเดียวกับที่ให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามข้อสัญญาข้อ 11.3 โจทก์จึงไม่ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับจำเลย ถือว่าการเข้าทำสัญญากับจำเลยเป็นไปด้วยความสมัครใจของโจทก์และอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบซึ่งกันและกัน และจำเลยได้นำสืบสาเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญารวมถึงพฤติการณ์อื่นๆ จะถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้ ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 11.3 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 จำเลยบอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งสองฉบับชอบแล้ว เมื่อการบอกเลิกสัญญามีเหตุสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

อร่าม แย้มสอาด
อร่าม เสนามนตรี
พินิจ สายสอาด

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android