คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2545

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท โครงการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนใหญ่จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ทำสัญญากับลูกค้าด้วยตนเอง เมื่อมีปัญหาจำเลยที่ 3 ก็จะเป็นผู้เจรจาตกลงซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนในการดำเนินกิจการของตน การที่จำเลยที่ 3 เจรจาตกลงทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องสัญญาจะซื้อจะขายและรับเหมาก่อสร้างกับโจทก์ จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการ
จำเลยที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องสัญญาจะซื้อจะขายและรับเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ผ่อนชำระเงินคืนให้แก่โจทก์รวม 8 งวดต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์ตกลงคืนให้แก่ ธ. จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมเข้าผูกพันปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันในการกระทำของจำเลยที่ 3 แล้ว จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 เข้าทำข้อตกลงโดยพลการและมูลหนี้ที่ตกลงชำระกันเป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบได้ อีกทั้งการให้สัตยาบันดังกล่าวมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงทั้งหมด มิใช่เป็นการให้สัตยาบันเฉพาะในมูลหนี้ที่ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823

ผู้พิพากษา

สุรพล เจียมจูไร
มงคล ทับเที่ยง
วิศณุ เลื่อมสำราญ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android