คำพิพากษาย่อสั้น
แม้ ช. ผู้จัดการของโจทก์อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่เป็นการแจ้งความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในเหตุนั้นบ้างเพื่อหาผู้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วรายงานตามลำดับชั้นบังคับบัญชาให้ผู้แทนของโจทก์คือ ผู้ว่าการสั่งการ ทั้งในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็ไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องรับผิดด้วยแต่อย่างใดจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ถึงการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 1ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ ช. ไปแจ้งความ
สายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ที่พาดผ่านถนนบริเวณที่เกิดเหตุสูงกว่าพื้นถนนเพียงไม่เกิน 5.18 เมตร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ว่าสายโทรศัพท์จะต้องอยู่สูงจากระดับผิวการจราจรช่วงที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านได้ไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคอยดูแลเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสายโทรศัพท์บริเวณที่เกิดเหตุจนทำให้สายโทรศัพท์อยู่สูงจากระดับผิวจราจรเพียงไม่เกิน 5.18 เมตรเป็นเหตุให้รถพ่วงบรรทุกถังเกี่ยวสายโทรศัพท์ที่พาดผ่านดังกล่าวดึงเสาไฟฟ้าของโจทก์หัก 8 ต้น และอุปกรณ์เสียหาย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเป็นเงิน 70,000 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้เสียหายอีกรายหนึ่งไปเป็นเงิน 6,925 บาท แต่จำเลยที่ 4 ให้การเพียงว่าความรับผิดของจำเลยที่ 4 มีจำนวนจำกัดในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท เท่านั้น มิได้ให้การถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนอื่นแต่อย่างใด ทั้งที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วก่อนยื่นคำให้การ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 4 นำสืบถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวล้วนแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลล่างต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง