คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ม.ค. 2553 15:40:30

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แม้ว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุด ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้คำว่า "TIMEWALKER" จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบว่า คำว่า "TIMEWALKER" เป็นการนำเอาคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่ โจทก์แปลคำดังกล่าวว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ซึ่งเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าคำนั้นสามารถแปลความหรือสื่อความหมายได้ หาใช่เป็นคำประดิษฐ์หรือคำใหม่ที่ไม่มีความหมาย และการแปลความของโจทก์ก็เป็นการแปลจากคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" นั่นเอง เมื่อพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "TIME" ว่าหมายถึง เวลา และคำว่า "WALKER" หมายถึง การเดิน ผู้เดิน หรือผู้ชอบเดิน คำว่า "TIMEWALKER" จึงอาจสื่อถึงความหมายได้หลายประการ การที่โจทก์แปลความว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ก็อาจเป็นไปได้ตามความมุ่งหมายของโจทก์ และขณะเดียวกันคำว่า "TIMEWALKER" ก็สื่อถึงความหมายว่า ผู้เดินเวลา หรือเครื่องมือที่เดินตามเวลา ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงนาฬิกาซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลาได้เช่นกัน เมื่อโจทก์นำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก และนาฬิกาแขวน จึงถือได้ว่าคำว่า "TIMEWALKER" เป็นคำที่บรรยายลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกนาฬิกาของโจทก์อันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๒) คำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันจะพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
ธนพจน์ อารยลักษณ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android