คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13116/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 พ.ย. 2552 16:16:19

คำพิพากษาย่อสั้น

 
บำเหน็จดำรงชีพแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเองแต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นการที่จำเลยจะอนุโลมเอาการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพมาใช้ในข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ตามข้อ 17 วรรคสอง จึงมีการเปลี่ยนแปลงในหลักการของสภาพการจ้างที่เป็นตัวเงินเกิดขึ้น ทำให้ลักษณะการจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทแตกต่างไปจากเดิมทั้งตัวผู้รับและกำหนดเวลาที่ได้รับ กับลักษณะการจ่ายเงินจากทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนในอนาคตก็เปลี่ยนเป็นจ่ายตามความประสงค์ของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนที่ยังมีชีวิตอยู่ การจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินของจำเลยในปัจจุบันจำเลยไม่สามารถจ่ายบำเหน็จดำรงชีพได้โดยงบประมาณของจำเลยเองจนจำเลยต้องขอคณะรัฐมนตรีให้สนับสนุนเป็นเงินทุน 1,469 ล้านบาทเศษ และเป็นเงินทุนสนับสนุนรายปีจากรัฐบาลเมื่อจำเลยเห็นสมควรให้แก้ไขหลักการในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินโดยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 กรณีจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับบำเหน็จดำรงชีพสำหรับจำเลยที่จำเลยอาจดำเนินการเองได้ตามมาตรา 13 (2) และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีให้ปรับปรุงสภาพการจ้างให้จ่ายบำเหน็จดำรงชีพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 วรรคสามแล้ว ศาลฎีกาย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยดำเนินการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์ทั้งหนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 48
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13
  • พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 7
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6

ผู้พิพากษา

สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android