คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 25 พ.ค. 2553 11:40:17

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือการกระทำใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้าง ไม่สามารถทำงานต่ออยู่ไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 52 นั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองกรรมการลูกจ้างเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้างในบางกรณีอาจเป็นการขัดผลประโยชน์ของนายจ้าง ซึ่งอาจทำให้นายจ้างไม่พอใจ และกลั่นแกล้งกรรมการลูกจ้างได้จึงจำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบเสียก่อนว่านายจ้างมีเหตุสมควรที่จะกระทำดังกล่าวหรือไม่
โจทก์กับ ย. มีเหตุทะเลาะวิวาทกันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนและพักงานโจทก์ โดยในขณะนั้นโจทย์ยังมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ยังไม่ทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงมิได้เป็นเพราะจำเลยไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะที่เป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่พอใจเนื่องจากโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างซึ่งกฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองกรรมการลูกจ้างแต่ประการใด อีกทั้งการประชุมเพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างก็จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนและมิได้จัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยทราบดีว่าโจทก์ถูกพักงานและถูกตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการเป็นกรรมการลูกจ้างมาขอความคุ้มครองจากศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวกับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

ผู้พิพากษา

พิทยา บุญชู
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android