คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ย. 2552 10:00:32

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 มาโอนให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และ 306 โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ในนามของโจทก์เมื่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ และแม้โจทก์จะสามารถดำเนินการบังคับให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์มีข้อตกลงในข้อ 6 ที่จำเลยที่ 1 รับรองลูกค้าที่โอนหนี้เป็นลูกค้าชั้นดี หากลูกค้าปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามมูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้คืนครบถ้วนดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่โจทก์ไปแล้วตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ ฟ้องโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี กรณีหาใช่การฟ้องเรียกลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ในมูลหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกหนี้ไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ผู้พิพากษา

มนตรี ยอดปัญญา
ดิเรก อิงคนินันท์
วีระพล ตั้งสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android