คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6931/2550

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 3 มี.ค. 2553 13:50:07

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 คือ ยานยนต์โดยสารสาธารณะซึ่งตามหมายเหตุของตอนที่ 87 หมายถึง ยานยนต์ที่ออกแบบสำหรับขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป (รวมถึงคนขับ) ส่วนของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 คือ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (นอกจากของตามประเภทที่ 87.02) รวมถึงรถสเตชั่นแวกอนและรถแข่ง เมื่อมีการดัดแปลงรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ ให้เป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไป เพื่อจะได้เสียอากรในอัตราร้อยละ 40 ของราคาของ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 กรณีจึงมีปัญหาว่ารถยนต์ที่ดัดแปลงนั้นจะต้องมีสภาพอย่างไรจึงจะจัดเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ซึ่งเสียภาษีน้อยกว่าถึง 1 เท่า อันเป็นปัญหาในการจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากร อธิบดีกรมศุลกากรของจำเลยย่อมอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร ฯ ตีความในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 และประเภทที่ 87.03 ได้ การที่อธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศ เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร ป.อ.1/2544 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 กำหนดว่า รถยนต์ที่จะจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ต้องมีสภาพอย่างไรจึงเป็นการตีความโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 ดังกล่าว ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามประกาศดังกล่าวรถยนต์ที่นำเข้าจะจัดเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไปตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 หรือไม่ ให้พิจารณาจาก Specification มาตรฐานใน Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นเกณฑ์ว่ามีขนาดจำนวนที่นั่งเท่าใด การนับจำนวนที่นั่งนั้นหากรถยนต์ที่นำเข้าติดตั้งที่นั่งมาทั้งหมดให้พิจารณาว่าที่นั่งที่ติดตั้งมานั้นยึดและติดตั้งบนจุดติดตั้งถาวร และสามารถนั่งได้ตามปกติวิสัยหรือไม่ ตามบทนิยามศัพท์คำว่า "นั่งได้ตามปกติวิสัย" หมายถึง สภาพที่นั่งมีความสะดวกสบายตามมาตรฐานโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ (Original Specification) ที่ได้ออกแบบ (designed for) สำหรับรถยนต์ประเภทนั้น ๆ โดยพิจารณาจาก Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ จึงเป็นการให้พิจารณาสภาพของในเวลาที่นำเข้า รถยนต์ที่โจทก์นำเข้ามีที่นั่ง 2 ที่นั่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง เป็นการเล็กกว่าทั้งขนาดของเบาะที่นั่งและพนักพิงหลัง โดยเฉพาะพนักพิงหลังนั้นไม่มีที่รองรับศีรษะเหมือนที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง หากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายมากกว่าผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งที่เหลือ 9 ที่นั่ง ยิ่งที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยเหมือนกับที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง ยิ่งมีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่า ฉะนั้น ที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง จึงมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย แม้กรมการขนส่งทางบกจะรับจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นประเภทรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (จำนวนที่นั่ง 11 คน) ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มิใช่การปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับกันจึงไม่อาจนำการรับจดทะเบียนดังกล่าวมาใช้ยันจำเลยได้ เมื่อที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย รถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร

ผู้พิพากษา

ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม
ทองหล่อ โฉมงาม
ไพโรจน์ วายุภาพ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android