คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7019/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ธ.ค. 2552 16:25:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินพิพาท ย่อมทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินถูกจำกัดตัดรอน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านไม่ว่าจะเป็น ส.เจ้าของที่ดินเดิมในขณะที่จำเลยดำเนินการสำรวจ หรือจะเป็นโจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังก็ถูกจำกัดตัดรอนสิทธิเหมือนกัน เมื่อ ส.ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่รวมถึงการถูกตัดรอนสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวด้วย และเมื่อโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดให้ ไม่ว่าโจทก์จะรับหรือไม่รับเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคารออมสิน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่จำเลยฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 30 ทวิ ประกอบมาตรา 30 วรรคสาม ทั้งกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติขั้นตอนให้โจทก์มีหน้าที่ต้องโต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก่อนฟ้องคดีในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดต่อคณะกรรมการจ่ายค่าทดแทนของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มได้ ประกอบกับจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นว่ามากเกินไปหรือไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้
จำเลยประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 พร้อมทั้งปิดประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการตำบลก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ว่า ส.จะทราบหรือไม่ก็ตาม โดยผลแห่งกฎหมายต้องถือว่าได้มีการประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ในบังคับมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดในเขตเดินสายไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ส่วนปัญหาว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งแก่ ส.เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านทราบเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าอันจะเป็นละเมิดหรือไม่นั้นก็ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เพราะในขณะนั้นโจทก์ยังมิใช่เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 และเริ่มถมดินปลูกสร้างบ้านพิพาทวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ภายหลังจากที่จำเลยมีหนังสือแจ้ง ส.นาน 1 ปี ถึง 2 ปี ทั้งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้ลงประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา และปิดประกาศดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอกับที่ทำการตำบลมาแล้ว 3 ปี ถึง 4 ปี ซึ่งหากแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิด ก็คงเป็นละเมิดต่อ ส.ได้เท่านั้น ไม่อาจเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยในมูลละเมิด อีกทั้งการปลูกสร้างบ้านของโจทก์ในที่ดินพิพาทในเขตเดินสายไฟฟ้าภายหลังการประกาศฯ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง โดยแจ้งชัดจำเลยจึงมีอำนาจรื้อถอนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 32 วรรคสอง
แม้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคสอง จะบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่จำเลยไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อย่างไรก็ตามกรณีโจทก์กับจำเลยยังมีข้อพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกไปก็เพื่อให้ศาลรับรองอำนาจดังกล่าวของจำเลยและให้จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเพื่อยุติข้อโต้แย้งของโจทก์ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 32
  • พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ

ผู้พิพากษา

บุญส่ง น้อยโสภณ
ชาลี ทัพภวิมล
สิทธิชัย พรหมศร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android